สินสอดคืออะไร
เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายต้องให้แก่พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว หรือผู้ที่เป็นผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ให้ฝ่ายหญิงยอมสมรสด้วยตามกฎหมายมาตรา 1437 ว.3
ที่มาของคำว่าเงินสินสอด
สินสอด ประกอบด้วยคำว่า สิน กับคำว่า สอด
สิน แปลว่า เงิน
สอด แปลว่า ใส่เข้าในช่องหรือในที่แคบ ๆ
สินสอด จึงแปลว่า เงินที่ใส่เข้าในช่องแคบ ๆ
มีคำสันนิษฐานในสมัยก่อนว่าเงินไทยเป็นเงินที่ทำจากแร่เงินเป็นรูปต่าง ๆ จะเรียกชื่อตามรูปเงินนั้น ๆ เช่น เงิดพดด้วงที่เรียกว่าพดด้วงเพราะว่าเงินเป็นรูปทรงกลมๆ มีปลายเป็นขางอ 2 ข้างคล้ายตัวด้วง ส่วนเงินที่มีลักษณะยาวคล้ายรางจีงเรียกว่า เงินราง เป็นต้น
เมื่อพ่อแม่ของฝ่ายชายไปขอลูกสาวบ้านใดจะนำเงินรางคือสินนั้นสอดเข้าไว้ในเงินพดด้วงไปมอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิง เงินที่ฝ่ายชายนำไปมอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงชดเชยค่าเลี้ยงดูหญิงสาวนั้นจึงเรียกว่า สินสอด และมีการเรียกกันแบบนั้นจนถึงทุกวันนี้
เงินสินสอดเท่าไหร่จึงจะสมควร
ค่าเงินสินสอดนั้นจะเกิดจากข้อตกลงระหว่างครอบครัวของเจ้าบ่าว และเจ้าสาว ซึ่งในวันยกขบวนขันหมากอาจมีการใส่เงินเพิ่มเข้าไป จากค่าสินสอดที่ตกลงไว้ โดยเป็นการถือเคล็ดตั้งแต่โบราณไว้ว่า เงินสินสอดนี้จะได้งอกเงย ได้ดอกออกผล แต่ในความเป็นจริง การตกลงเรื่องเงินสินสอดได้จัดเป็นปัญหารายใหญ่ในการแต่งงาน ระหว่างคู่รักในไทยมากขึ้นเพราะไม่มีข้อกำหนดตกลงที่ชัดเจนว่า เงินสินสอดที่เหมาะสมนี้ควรจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ หากแต่ขึ้นอยู่กับสมัครใจล้วน ๆ
หากเป็นสมัยก่อน การพูดคุยสินสอดจะเป็นเรื่องของฝ่ายผู้ใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ในทุกวันนี้ชายหญิงที่จะร่วมหอด้วยกันก็ได้มีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นสินทรัพย์ที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตร่วมกันแล้ว ยังหมายถึงความรับผิดชอบในการหาสินสอดมาแต่งงานอีกด้วย แม้ว่าฝ่ายผู้ใหญ่จะยังคงมีบทบาทต่อการพูดคุยเรื่องสินสอดอยู่ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรการเรียกสินสอดกันแต่ละคู่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคู่บ่าวสาวตกลงกันว่าจะอะไรยังไง อยู่ที่ความพอใจร่วมกันด้วย
เงินสินสอดนี่จำเป็นไหม
จำเป็นมาก ๆ ถือว่าเป็นกฎเหล็กเลย ที่เงินสินสอดนั้นจะต้องมีในทุกงานแต่ง ถือเป็นประเพณีมาอย่างเนิ่นนานและแสดงถึงความความมีน้ำใจ และความมั่นคงของเราที่จะโชว์ความสามารถว่าเราสามารถดูแลอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างแน่นอน และแสดงให้เห็นถึงความมีหน้ามีตา ในสังคมไทยได้อีกด้วย